วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ทำความรู้จักกับพื้นฐานของกล้อง [F-stop , Speed shutter , ISO]

สวัสดี...ผู้ที่หลงเข้ามาทุกท่าน
เมื่อไรก็ตามที่เราอยากจะปรับตั้งค่ากล้องเองบ้าง อาจจะไม่อยากพึ่งโหมด Auto ที่ไม่ค่อยจะได้ดั่งใจ หรือไปอ่าน Tips ทั้งหลายแหล่แล้วอยากจะลองทำตามดู สิ่งที่เราจะเจอแน่ๆ มีอยู่ 3 ชื่อด้วยกัน

  • F-stop (รูรับแสง)
  • Speed shutter (ความเร็วชัตเตอร์)
  • ISO

ก็มีแค่ 3 ค่านี้แหละ วนไปวนมา ซึ่งนี่เป็นค่าพื้นฐานที่จะช่วยให้คุณได้ภาพดั่งที่คุณต้องการแน่นอน
ถ้าควบคุมได้ และใช้อุปกรณ์ถูกต้องตามหลักการนะ
รายละเอียดและตัวอย่าง เลื่อนลงไปด้านล่างเลยครับ


F-stop หรือรูรับแสง 

คือใบเบลดที่อยู่ในเลนส์ เปิดให้กว้างได้ หรี่ให้แคบก็ได้
มีหน้าที่หลักๆ 2 อย่าง คือควบคุมปริมาณแสง(เปิดกว้าง แสงมาก) และควบคุม DOF(การละลายหลัง ถ้า F ต่ำ ละลายมาก)




Tips : จำนวนใบเบลดในเลนส์ มีผลต่อเหลี่ยมของโบเก้ และแฉกเวลาถ่ายไฟแฉกด้วย
ตัวอย่างใบเบลดในเลนส์ เลนส์ตัวนี้หากหรี่ F จะได้โบเก้ 6 เหลี่ยม และแฉกไฟ 6 แฉก
(ไว้ค่อยลงลึกทีหลัง)

Speed shutter หรือ ความเร็วชัตเตอร์

ชื่อนี้เป็นชื่อที่ใช้เรียกความเร็วในการลั่นชัตเตอร์ ซึ่งสัมพันธ์กับการหยุดความเคลื่อนไหวของภาพ
หากตั้งสปีดไว้สูงๆ จะหยุดการเคลื่อนไหวของวัตถุที่เคลื่อนที่เร็วๆ ได้
และหากลดสปีดต่ำๆ(เปิดหน้ากล้องนาน) จะได้แสงเข้าไปยังภาพมากขึ้น

ตัวอย่างการใช้สปีดชัตเตอร์ หยุดความเคลื่อนไหวของวัตถุ


สังเกตุที่สปีด 1/1250s. ที่มากที่สุดในภาพ ใบพัดจะเหมือนหยุดนิ่ง แต่เมื่อลดสปีดลงเรื่อยๆ ใบพัดก็จะเริ่มเบลอ(กล้องจับภาพไม่ทัน)

ตัวอย่างการใช้งานแบบสปีดชัตเตอร์ต่ำ (ควรใช้ร่วมกับขาตั้งกล้อง)
ไฟรถเป็นเส้น จากการใช้สปีดชัตเตอร์ต่ำ

ISO

เรียกง่ายๆ ว่าค่าโกงแสงละกัน
ค่า ISO นี้ ถ้าใช้สูงขึ้น ภาพจะสว่างขึ้น แต่ก็จะเกิด Noise มากขึ้นด้วย(Noise คือสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้า ทำให้ภาพเกิดเม็ดเกรนหยาบๆ สีเพี้ยนๆ) ซึ่งกล้องที่ใช้เทคโนโลยีดีๆ จะเห็น Noise ได้น้อยกว่าที่ ISO เท่ากัน

ปิดท้ายด้วยการฝากเพจขายของครับ https://www.facebook.com/lightcapture.shop/

ระยะ Register ของกล้องกับเลนส์

บทความนี้ เป็นหัวข้อที่ต่อเนื่องจาก เลนส์มือหมุน คืออะไร? แล้ว...เลือกยังไง? มีไว้เพื่อให้คนเลือกเลนส์แล้วใส่ได้ ไม่กลายเป็นเลนส์มาโครภาคบังคับ หรือใช้งานปกติไม่ได้

ระยะ Register เป็นเรื่องที่น่าปวดหัวไม่น้อยครับ
อีกปัจจัยที่สำคัญ และปวดหัวไม่น้อยกว่าเรื่องเลนส์ระยะไหนดียังไง
เอาแบบสั้นๆ ระยะ Register คือระยะห่างระหว่างท้ายเลนส์และเซ็นเซอร์รับภาพ(สำหรับยุคก่อนคือฟิล์ม) โดยระยะ Register เลนส์ที่ใช้กันก็จะมีประมาณนี้

ตารางระบุระยะ Register ของเลนส์แต่ละเมาท์

ไม่ต้องพยายามจำก็ได้ แค่ใช้มันอ้างอิงก็พอ. . .

กฎเหล็กของเรื่องนี้คือ ถ้าไม่อยากยุ่งยาก แค่ห้ามใช้เลนส์ที่ระยะ Register ต่ำกว่ากล้อง !
เพราะการต่อ Adapter จำเป็นต้องใช้ช่องว่างของระยะที่ห่างกันตรงนี้ครับ
(หากใครเคยใช้เลนส์หลายเมาท์ สังเกตุดีๆ จะเห็นว่า Adapter ที่ไปเลนส์ Canon FD จะเตี้ยกว่า Adapter ไป Nikon)
ก็ต้องเผื่อที่ให้ Adapter มีที่ยืนบ้าง. . .

ทีนี้เรารู้แล้วว่า เวลาจะหาเลนส์มาใช้ ต้องให้ค่า Register ของเลนส์มากกว่ากล้อง ถึงจะต่อ Adapter ได้
แล้วถ้าระยะ Register ของกล้องนั้นๆ ใกล้เคียงกับเลนส์ หรือมากกว่าเลนส์ จะเกิดอะไรขึ้น?
ความเป็นไปได้ก็มีแค่ไม่กี่อย่าง

  1. ต้องใช้ Adaper แบบมีชิ้นเลนส์
  2. กลายเป็นเลนส์มาโคร (โฟกัสใกล้ๆ ได้ แต่โฟกัสไกลๆ ไม่ได้เลย ส่วนใหญ่จะโฟกัสได้ไม่เกินเมตรสองเมตรเท่านั้น)

สำหรับนวัตกรรมที่ให้ Adapter มีชิ้นเลนส์ ใช้เพื่อชดเชยระยะที่ผิดไปจากปกติ ทำให้แหกกฎด้านบนได้
แต่ชิ้นเลนส์ที่ว่า มักจะทำให้คุณภาพของภาพถ่ายลดลงไปบ้าง ไม่มากก็น้อย

ส่วนข้อ 2 ผมจะเห็นบ่อยๆ จากคนที่ใช้กล้อง Nikon แล้วซื้อเลนส์ M42 แบบไม่มีชิ้นเลนส์มา เจอกันทุกคนครับ กลายเป็นมาโครอาชีพเลยทีเดียว เพราะเงยหน้ามาโฟกัสอะไรไม่ได้ ต้องก้มดูพื้นอย่างเดียว

และหากเลื่อนขึ้นไปดูค่า Register ของกล้องดีๆ จะเห็นว่า กล้อง DSLR ค่อนข้างยุ่งยากในการหาเลนส์มากกว่ากล้อง Mirrorless ครับ

ก็ต้องบอกว่า หากอยากใช้มือหมุนแบบสบายๆ ซื้อกล้อง Mirrorless มาใช้ น่าจะทำให้ชีวิตง่ายขึ้นเยอะ

สวัสดี. . .

วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เลนส์มือหมุน คืออะไร?

เลนส์มือหมุนคืออะไร?
คำว่ามือหมุน มาจากการใช้เลนส์มือหมุนเอง ที่ต้องใช้มือหมุนๆ ที่เลนส์เพื่อให้โฟกัสภาพได้ เพราะตัวเลนส์เองไม่มีระบบออโต้โฟกัส(Auto focus : AF) แบบเลนส์สมัยใหม่ จำเป็นต้องโฟกัสด้วยมือ (Manual focus : MF) เท่านั้น
การใช้มือหมุนที่เลนส์ จึงกลายเป็นจุดสังเกตุ และเป็นที่มาของคำว่า เลนส์มือหมุน นั่นเอง

ถามว่าเลนส์มือหมุนเนี่ย มันมีข้อดี มีข้อเสียต่างจากเลนส์ AF ตรงไหน ลองอ่านบล็อคนี้ดูครับ

ข้อสังเกตุว่าเลนส์ตัวนั้นน่าเป็นเลนส์มือหมุน

  1. เก่า : เลนส์มือหมุนส่วนใหญ่เป็นเลนส์ของกล้องฟิล์มเก่าๆ ฉะนั้นถ้ามันเป็นเลนส์เก่ามากๆ แน่นอนว่าเป็นมือหมุน
  2. ไม่มีขั้วไฟฟ้าท้ายเลนส์ : การที่ตัวเลนส์จะใช้ระบบ AF หรือกันสั่นในตัวเลนส์ได้นั้น ตัวเลนส์จะต้องมีขั้วไฟฟ้าที่ท้ายเลนส์ เพื่อให้กล้องจ่ายไฟมาให้เลนส์ใช้กับระบบ AF หรือกันสั่นได้
    ถ้าไม่มีขั้วไฟฟ้า ก็ใช้ AF ไม่ได้แน่นอน

ทำไมเราถึงเลือกเลนส์มือหมุน

  1. ถูก  : สาระสำคัญที่สุดแล้วสำหรับคนงบน้อย โดยเฉพาะเลนส์ F กว้างๆ อยากใช้เลนส์ค่ายก็เจอราคาโหดร้าย ก็เลยต้องหนีไปใช้มือหมุน
    (อย่างในร้านของผมจะมีเลนส์มือหมุน Vivitar 85mm F1.8 ค่าตัว 5,xxx ซึ่งถ้าเทียบกับ AF อย่างเลนส์ Canon 85mm F1.8 ที่ราคา 15,xxx แล้ว มันห่างกันเยอะมาก) 
  2. ทน : เลนส์มือหมุนทนทานกว่าเลนส์ออโต้นะครับ โอกาสเสียมันต่ำกว่าเพราะตัวมันเองไม่มีระบบไฟฟ้า ไม่มีมอเตอร์ ไม่มีสายแพร(เลนส์ AF ส่วนใหญ่ที่ใช้ไปนานๆ ก็เสียเพราะชิ้นส่วนพวกนี้) เรียกได้ว่าถ้าไม่เอาไปโหม่งโลก หรือใช้จนฝ้า-ราขึ้น มันก็จะอยู่กับเราไปอีกนาน
  3. มีคาแรกเตอร์เฉพาะตัว : จุดเด่นที่หลายๆ คนยอมใช้มือหมุนเก่าๆ  เพราะเลนส์หลายๆ ตัวจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น โบเก้วน หรือขอบฟุ้ง สีหวานๆ อะไรก็ว่าไป ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นข้อผิดพลาดที่สมัยก่อนยังทำให้มันคม เนียน ไม่ได้เหมือนเลนส์สมัยนี้ แต่ศิลปะมันไม่ได้แบ่งแยกตรงที่เทคโนโลยี ใครว่าสวยก็ใช้ได้ ไม่มีปัญหา
  4. มันเป็นฟิลลิ่ง : บางคนชอบฟิลลิ่งของมือหมุนครับ ชอบการละเมียดละไม ค่อยๆ หมุนโฟกัสไปมา แล้วค่อยๆ กดชัตเตอร์มันได้อารมณ์กว่า
  5. เลนส์ค่ายไม่มีระยะนั้นๆ ให้ใช้ : ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าสงสารหน่อยๆ(โดยเฉพาะคนใช้กล้อง Mirrorless ที่มีตัวเลือกเรื่องเลนส์ต่ำกว่า DSLR พอสมควร) และส่วนใหญ่หากใช้เลนส์เมาท์อื่นก็มักจะใช้ AF ไม่ได้ ใส่ไปกลายเป็นมือหมุนเหมือนเดิม
Tips : แม้จะบอกว่าการใส่เลนส์ข้ามค่ายข้ามเมาท์จะทำให้ใช้ AF ของเลนส์ไม่ได้ แต่ทุกวันนี้มี Adapter บางตัวที่พัฒนาให้มีระบบไฟฟ้าในตัว ทำให้ใช้ระบบ AF จากเลนส์ได้แล้ว เช่น EF to Nex (เลนส์ Canon ใส่กล้อง Sony E-mount)

จะเห็นได้ว่าคนที่เลือกใช้เลนส์มือหมุนก็มีหลากหลายเหตุผล ทั้งความชอบ และความจำเป็น
แต่ก่อนจะซื้อเลนส์มาใช้ซักตัว จำเป็นต้องมีความรู้อยู่บ้าง(ไม่ก็ถามคนขายเอา)
บล็อคนี้จะให้เรื่องที่จำเป็นสำหรับการซื้อเลนส์มือหมุนซักตัวหนึ่ง จะได้หมดปัญหาเรื่องซื้อมาแล้วใส่ไม่ได้
หลักๆ ก็มีเรื่องของ เมาท์เลนส์-กล้อง ถัดมาคือ การเลือก Adapter  และ ระยะ Register

Lens mount (เมาท์เลนส์)

เมาท์เลนส์ เป็นสิ่งแรกที่จำเป็นจะต้องดู เมื่ออยากหาเลนส์อะไรซักอย่างมาใส่กับกล้องเปลี่ยนเลนส์ เพราะต้องดูว่าเลนส์เป็นเมาท์เดียวกับกล้องหรือไม่ หากไม่ใช่ ต้องหา Adapter อะไรมาใช้ หรือแย่ที่สุดคืออาจจะใส่ไม่ได้ เพราะปัญหาเรื่องค่า Register

ตัวอย่างเมาท์เลนส์ อันนี้เมาท์ Minolta MD


หากเป็นมือหมุนยุคเก่า มักจะต้องใช้ Adapter(ยกเว้น Nikon ที่ใช้เลนส์มือหมุนค่ายตัวเองได้เลย ไม่ต้องหา Adapter) แต่สำหรับมือหมุนยุคใหม่ (เช่น Samyang , Mitakon) จะผลิตเลนส์มาตรงเมาท์อยู่แล้ว เลือกซื้อให้ตรงกับกล้องตัวเอง ก็ไม่ต้องใส่ Adapter

วิธีเลือก Adapter

Adapter แปลงเลนส์ เป็นสิ่งที่จำเป็นเวลาใช้เมาท์เลนส์ไม่ตรงกับกล้อง
(หากเมาท์เดียวกันก็ใส่ได้เลย ไม่ต้องแปลงให้ยุ่งยาก)
เบื้องต้น ต้องรู้ชื่อเมาท์เลนส์ที่จะใส่ และเมาท์กล้องก่อน
โดยวิธีหา Adapter มักมาในชื่อ Adapter เมาท์เลนส์ to เมาท์กล้อง
ตัวอย่างเช่นอันนี้
เล่นของตัวเองละกัน ง่ายดี ไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ภาพ

อันนี้เรียกว่า Adapter M42 to Nex คือเป็น Adapter ที่ให้เรานำเลนส์เมาท์ M42 มาใส่กับกล้อง Sony E-mount(กล้อง Mirrorless ของ Sony รุ่นเก่าๆ จะใช้ชื่อ Sony Nex แต่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อแล้ว)


อีกตัวอย่างหนึ่ง ตัวนี้ Adapter Nikon G to M4/3 คือ Adapter แปลงเลนส์เมาท์ Nikon มาใส่กับกล้องระบบ M4/3 (Olympus , Panasonic)

จริงๆ ว่าจะเขียนเรื่องระยะ Register ปิดท้ายซะเลย แต่รู้สึกว่าจะยาวเกินไปแล้ว
 เดี๋ยววันหลังค่อยมาต่อเรื่อง Register กัน 
Update : เขียนเพิ่มให้แล้ว จิ้มเลย --> ระยะ Register ของกล้องกับเลนส์
ถ้าอ่านครบ มั่นใจว่าซื้อเลนส์มา ใช้ได้แน่นอน


ปิดท้ายด้วยการฝาก เพจบน Facebook ไว้ให้กด Like เพื่อดูอัพเดตบล็อคใหม่ และดูของซื้อของขายนะครับ