วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2559

ทำความรู้จักกับ Crop factor บนกล้องตัวคูณ และการเทียบระยะ

เรื่องนี้อาจเป็นอะไรที่ปวดหัวไม่น้อย สำหรับคนที่เพิ่งจะเล่นกล้อง
ที่ต้องคอยถามว่า เลนส์นี้ใส่กล้องนี้ ระยะเท่าไร โดยที่ไม่ได้เข้าใจเลยว่าทำไมถึงกลายเป็นระยะเท่านี้
ซึ่งสำหรับคนใช้กล้อง DSLR น่าจะคุ้นเคยกับคำว่ากล้อง FF กับกล้องตัวคูณ
แล้ว... ทำไมถึงเรียกตัวคูณ ถ้าสงสัย ด้านล่างมีคำตอบให้ครับ

Crop Factor คืออะไร

ก่อนอื่นต้องบอกว่า Crop factor มีไว้สำหรับเทียบองศารับภาพของเลนส์ ระหว่างกล้อง 2 ตัวที่มีเซ็นเซอร์รับภาพขนาดต่างกัน
ซึ่งตัวเซ็นเซอร์รับภาพ คือพื้นที่ที่ตัวกล้องเก็บข้อมูลภาพจากเลนส์ที่ถ่ายออกมาได้
เป็นพื้นที่กรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีเขียวๆ ด้านในกล้อง(ภาพด้านล่าง)

credit : http://www.theinspiredeye.net
บน : เซ็นเซอร์ขนาด Full Frame
ล่าง เซ็นเซอร์ขนาด APS-C

*ที่ใช้ตัวอย่างเป็นกล้อง Mirrorless เพราะมันเห็นส่วนของเซ็นเซอร์รับภาพง่ายกว่ากล้อง DSLR น่ะ

ด้วยความที่กล้องแต่ละฟอร๋แมต มีขนาดเซ็นเซอร์รับภาพไม่เท่ากัน ก็เลยส่งผลทำให้ภาพที่ได้ต่างกันไปด้วย ตามภาพด้านล่าง
credit : http://www.better-digital-photo-tips.com

เหตุที่ถูกเรียกว่า Crop factor ก็เพราะหากเทียบกล้องที่เซ็นเซอร์รับภาพใหญ่ กับกล้องเซ็นเซอร์รับภาพเล็ก ภาพที่ได้จากเซ็นเซอร์ที่เล็กกว่าจะเหมือนถูกหั่นขอบออกไป(เหมือนการ Crop ภาพออกด้วยโปรแกรม)
นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมกล้องที่มีขนาดเซ็นเซอร์รับภาพไม่เท่ากัน ถึงต้องมีการเทียบทางยาวโฟกัสของเลนส์เมื่อเทียบระหว่างกล้องที่มีขนาดเซ็นเซอร์รับภาพใหญ่ไม่เท่ากัน

แล้ว...ใช้เทียบกันยังไง

Crop factor มักเอาไว้เทียบองศารับภาพของเลนส์ กับกล้องที่เซ็นเซอร์รับภาพขนาดไม่เท่ากัน โดยเทียบกับ FF เป็นหลัก
โดยตามสูตร จะกำหนดให้มีตัวคูณดังนี้ (ขอระบุเฉพาะกล้องเปลี่ยนเลนส์ได้นะครับ)
x1    = Full Frame (Canon EF , Nikon FX , Sony A7 เป็นต้น)
x1.5 = APS-C (Nikon DX , Sony
x1.6 = APS-C (Canon EF-S)
x2    = M4/3 (Olympus , Panasonic)
x2.7 = Nikon1 , Samsung NX-mini
x4.7 = Pentax Q7 , Q-S1
x5.6 = Pentax Q,Q10

วิธีคำนวนก็ไม่ยากครับ สูตรมีแค่ ทางยาวโฟกัส x Crop factor = ทางยาวโฟกัส(เทียบเท่า FF)
ตัวอย่าง
ใช้กล้อง Nikon D5500 ติดเลนส์ 35mm F1.8 ต้องการรู้ว่าจะได้องศา
ตัว D5500 เป็นกล้อง APS-C ใช้ Crop factor x1.5
อ้างสูตรมาเลย จะได้ 35 x 1.5 = 52.5mm

สรุปได้ว่า กล้อง Nikon D5500 ซึ่งเป็นกล้องตัวคูณ(APS-C x1.5) เมื่อใช้เลนส์ 35mm
จะได้องศารับภาพเทียบเท่ากล้อง Full Frame (x1) ที่ใช้เลนส์ 50mm
หากใช้กล้องขนาดอื่น ก็เปลี่ยนค่าเอานะครับ

เมื่อไรที่จะต้องเอา Crop factor มาเทียบกัน

ใช้เมื่อต้องการทราบว่า เลนส์ระยะนี้ของกล้องเรา จะได้ระยะกว้างกว่า เท่ากัน หรือแคบกว่ากล้องอีกตัวหรือไม่
เช่น Fuji X-A2 + 27mm F/2.8 เทียบกับ Olympuis E-PL7 + 20mm F/1.7 ตัวไหนได้ภาพกว้างกว่า?
หรือ กล้อง Canon 6D + 85mm F/1.2 เทียบกับ Panasonic GX8 + 42.5mm F/1.2 ตัวไหนได้ภาพกว้างกว่า?
ไม่ก็ Sony A7 + 50mm F1.8 เทียบกับ Sony a6000 + 35mm F1.8 ตัวไหนได้ภาพกว้างกว่า?
ถ้ารู้ว่ากล้องตัวไหนใช้ Crop factor เท่าไร อยากให้ลองคูณตามสูตรดู จะรู้คำตอบครับ...
...ว่าโดนผมแกล้ง :p

จริงๆ แล้ว ผู้ผลิตคูณระยะให้เรียบร้อยแล้ว

แม้สูตรจะดูน่าปวดหัวไปหน่อยสำหรับคนที่ไม่คุ้ยเคยกับเรื่องนี้
แต่ด้วยคำว่าเลนส์คิต คือระยะที่ครอบคลุมสำหรับผู้ใช้ทั่วๆ ไป ซึ่งไม่ว่าจะกล้องอะไร มันก็จะได้ระยะเลนส์ที่กว้างพอๆ กัน
ตรงนี้ผู้ผลิตเขาคิดไว้แล้วครับ ว่าทำยังไงมันถึงจะกว้างพอๆ กัน
ถ้ามีโบวชัวร์ร้านกล้องติดมือมา สังเกตุชุดคิตที่มากับกล้องนะครับ จะเห็นว่าระยะมันไม่เท่ากัน

ตัวอย่างเช่น
Full Frame : Nikon D750 + 24-120mm
APS-C : Sony a6000 + 16-70mm
M4/3 : Olympus E-M5 II + 12-40mm
ลองคูณดู จะเห็นว่าระยะเริ่มต้นกว้างพอๆ กันเลยครับ

FAQ  คำถามที่น่าจะสงสัย

Q : เทียบระยะเลนส์โดยไม่คูณได้รึเปล่า
A : ได้ หากเทียบระหว่างกล้องที่มีขนาดเซ็นเซอร์เท่าๆ กัน อย่างเช่น Nikon D5500 , Sony a6000 , Fuji X-E2 ซึ่งพวกนี้มีขนาดเซ็นเซอร์รับภาพเท่ากัน ใช้ x1.5 เท่ากัน ก็สามารถเทียบกันโดยไม่ต้องคูณ ก็ได้

Q : แบบนี้ ถ้าใช้เลนส์ที่คูณแล้วระยะเท่ากัน ภาพที่ได้จะเหมือนกันใช่มั้ย
A : ไม่ใช่ คือเรื่อง Crop factor จะช่วยเทียบเรื่ององศารับภาพ ที่ได้เท่านั้น ว่ากว้างเท่ากันหรือไม่
แต่ลักษณะอื่นๆ ที่มากับเลนส์ทางยาวโฟกัสนั้นๆ อย่างเช่นเรื่อง Perspective หรือ DOF ที่ได้จากเลนส์ระยะนั้นๆ จะได้ไม่เหมือนกัน เพราะใช้เลนส์ต่างระยะกัน แค่คูณแล้วได้ภาพกว้างใกล้เคียงกันเท่านั้น

Q : ถ้าไม่ได้เทียบกับกล้อง FF ล่ะ อยากเทียบกับกล้องขนาดอื่น
A : วิธีอย่างง่ายแบบไม่ต้องงงมาก คือคูณระยะให้เป็น FF ทั้งคู่ แล้วค่อยเทียบกัน
เช่น กล้อง Fuji X-A2 + 27mm F/2.8
เทียบกับ Olympuis E-PL7 + 20mm F/1.7
Fuji เทียบกับ FF จะได้ 27mm x 1.5 = 40.5mm
Oly เทียบกับ FF จะได้ 20mm x 2     = 40mm
พอเป็นระยะบน FF แล้ว มันจะเห็นภาพง่ายขึ้นเยอะ ว่าได้ภาพกว้างใกล้เคียงกัน


ไหนๆ ก็พูดถึงเรื่อง Crop factor แล้ว ปิดท้ายด้วยการเทียบขนาดเซนเซอร์กล้องดิจิตอล กับกล้องมือถือกันหน่อย
สังเกตุกรอบสีเทานอกสุดคือ Full Frame
สีฟ้าและแดง คือ APS-C
สีเขียว คือ M4/3
สีเหลือง ขนาด 1/3" นั่นน่ะ ของ iPhone 6 ครับ เล็กจิ๋ว นิดเดียวเท่านั้น
ก็ไม่ต้องถามเลย ว่าทำไมกล้องแท้ๆ ถึงให้คุณภาพของภาพถ่ายได้ดีกว่ากล้องมือถือ เนื่องด้วยขนาด
ของเซ็นเซอร์รับภาพที่แตกต่างกันมากนั่นเอง

Tips : เซ็นเซอร์รับภาพที่ขนาดใหญ่ ในทางเทคนิคจะให้คุณภาพไฟล์ที่ดีกว่า

หากมีปัญหา ข้อสงสัย สอบถามได้ที่เพจ Light Capture เลยครับ ไม่มั่นใจว่าช่วงนี้จะได้เข้ามาดูบล็อคบ่อยรึเปล่า

ขอบคุณทุกท่านที่  กลั้นใจ  ตั้งใจอ่านจนจบครับ สวัสดี. . .