วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2559

Review : Creator 35mm F/2.0 เลนส์เดียวเที่ยวทั่วไทย แบบมือหมุนใส่ Full Frame

สวัสดีผู้ที่หลงเข้ามาอ่านครับ
นี่น่าจะเป็นรีวิวแรกของ Light Capture เลยล่ะ
ครั้งนี้เป็นเลนส์ Creator 35mm F/2.0 ซึ่งเป็นเลนส์ที่รองรับกล้อง Full Frame และเซ็นเซอร์ที่เล็กกว่า
จุดเด่นของเจ้านี่ คือ เอฟต่ำ ระยะถ่ายสบาย ตัวเดียวเที่ยวไปทั่ว

และตามปกติของ Light Capture ซึ่งเน้นเลนส์มือหมุนเป็นหลัก
เจ้าตัวนี้ก็เป็นเลนส์มือหมุนนะครับ

จริงๆ ผมเป็นพวกชอบพกอะไรๆ แบบเล็กเบานะ ตามภาพ

Creator 35mm F/2.0 ประกบกับกล้อง Sony a3000

...มันเล็กตรงไหนล่ะเนี่ย

ก่อนที่จะตกใจ ก็ต้องบอกว่าเลนส์ Creator 35mm F/2.0 ตัวนี้มันออกแบบมาเพื่อให้รองรับกล้อง Full Frame ตัวมันเองก็เลยใหญ่โตตาม Image circle ที่รองรับ Full Frame และคุณภาพของตัวเลนส์เองล่ะครับ
ซึ่งตัวเลนส์มันเหมาะกับกล้อง Full Frame จริงๆ ขนาดประกบกับกล้องทรง DSLR อย่าง Sony a3000 ยังเข้ากันขนาดนี้

โดยพื้นฐานแล้ว เลนส์ 35mm เมื่อใส่บนกล้อง Full Frame แล้ว จะได้ระยะที่กว้างนิดๆ เหมาะมากกับการใช้เป็นเลนส์เดี่ยวติดกล้อง จะถ่าย Street ถ่ายคน ถ่ายวิว มันได้หมดเลย
นี่คือเหตุผลที่ผมเลือกมันมาครับ



สเปคตัวเลนส์

ทางยาวโฟกัส : 35mm
รูรับแสงกว้างสุด : F/2
รูรับแสงแคบสุด : F/22
ใบเบลดรูรับแสง : 9 ชิ้น
จำนวนชิ้นเลนส์/กลุ่ม : 7/5
วัสดุ : โลหะ
รองรับเซ็นเซอร์รับภาพ : Full Frame , APS-C , M4/3 และกล้องที่ขนาดเซ็นเซอร์รับภาพเล็กกว่าทุกชนิด
ขนาดฟิลเตอร์ : 55mm
โฟกัสใกล้สุด : 0.25m / 0.8ft
ขนาดตัวเลนส์ : 85 x 55mm
น้ำหนัก : 310g
เมาท์กล้องที่มี : Canon EOS , Nikon F , Pentax K

หน้าตาเลนส์ส่วนรูปร่างหน้าตาเป็นแบบนี้
ด้านหน้า

ใบเบลดรับแสง 9 กลีบ ให้โบเก้ที่ค่อนข้างกลม

ท้ายเลนส์

ด้านข้าง
ส่วนหน้าเลนส์เป็นแหวนปรับโฟกัส ถัดลงมาเป็นแหวนปรับ F ตั้งแต่ 2 - 22
มีแหวนมีสเกลบอกระยะ Hyperfocal ด้วยนะ

โฟกัสใกล้สุดได้ที่ 0.25m / 0.8ft


แรกจับประทับใจจริงๆ เลนส์ตัวนี้เป็นอะไรที่กระชับมือ โลหะทนทานแข็งแรง โฟกัสฝืดกำลังดี
แหวนปรับ F เป็นแบบฟรี ไม่ได้คลิกดังๆ เน้นๆ เหมือนเลนส์มือหมุนหลายๆ ตัว
แต่พอหมุนเข้า F ที่ต้องการแล้วมันจะสะดุดเล็กๆ ให้รู้ว่าเออ...จาก F2 มาถึง F2.8 แล้วนะ อะไรประมาณนี้
เรื่องปรับ F ตอนถ่าย VDO นี่หายห่วงเลย ไม่มีปัญหาแน่นอน

การใช้งานจริง

เลนส์ Creator 35mm F/2.0 ตัวนี้ ถูกวางตัวเป็นเลนส์เอนกประสงค์ ด้วยระยะติดไวด์นิดๆ ทำให้เหมาะกับการถ่ายตรีท และติดกล้องไปทุกที่
ผมก็เลยอยากเทสมันด้วยวิธีนี้ล่ะครับ

การทดสอบนี้ใช้กล้อง Sony ILCE-3000(a3000) ซึ่งเป็นกล้อง APS-C แต่มาโมเมเป็น Full Frame ด้วย Adapter Lens turbo นะครับ คุณภาพตรงขอบอาจด้อยกว่าภาพจากกล้อง Full Frame แท้ๆ นัก
เรื่องขอบมืดนี่ของ Turbo เขาล่ะ เลนส์ไม่ผิดนะ
ผมใส่ Lens turbo เพื่อให้เห็นความกว้างและมิติเมื่อใช้บนกล้อง Full Frame ครับ

การทดสอบรอบนี้ ผมเองแอบไปเดินเล่นพัทยามาครับ ก็พยายามถ่ายให้ครบทุกแบบ ทุกแนวที่คิดออกนะครับ

*ภาพตัวอย่างนี้เกือบทุกภาพ เป็นภาพจบหลังกล้อง ที่ Profile : Standard con0 sharp0 sat0 ไม่ได้ปรับแต่งอะไรทั้งนั้น มีแค่บางภาพที่ถ่ายพลาดมามืดเกิน จะมีแอบปรับนิดหน่อย บวกกับฝีมือที่ไม่ค่อยดีนักของผมเอง ก็ออกมาแบบ...

...เอาน่า ดูๆ ไปเถอะ

ภาพสตรีท และวิว







ภาพถ่ายบุคคล เน้นละลายหลัง

ในร้านที่แสงน้อย
ลองดูโบเก้ข้างหลังนะครับ ว่า F/2 มันพอใช้งานได้รึยัง


นี่ก็แสงน้อยเหมือนกัน

ภาพถ่ายคนพร้อมวิว

นี่เป็นแนวที่เหมาะกับเลนส์ตัวนี้จริงๆ เพราะมันดูจะถ่ายง่ายมากกก
ละลายหลังได้พองาม ที่ F/2.0 ตัวแบบเด้งออกมาได้หน่อยๆ

ภาพถ่ายอาหาร

โฟกัสใกล้สุด 25cm หายห่วงแล้วล่ะ
(ในภาพเป็นถ้วยเล็กๆ ไม่ใช่ชามใหญ่ด้วย ยังได้เท่านี้)



โคลสอัพ



ถ่ายโมเดลก็ได้ สบายๆ

ฟีเจอร์เสริม

หากคุณซื้อเลนส์ตัวนี้มาด้วยเมาท์ Canon EOS ละก็ ท้ายเลนส์จะมีชิปคอนเฟิร์มเอาไว้ใช้กับกล้อง Canon ด้วยนะครับ คนใช้ Canon ที่อยากใช้มือหมุนก็จะสบายขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

สรุป

ด้วยความที่เลนส์ Creator 35mm F/2.0 ตัวนี้ ถูกวางตัวเป็นเลนส์เอนกประสงค์ ด้วยระยะติดไวด์นิดๆ ทำให้เหมาะกับการถ่ายตรีท และติดกล้องไปทุกที่
ผลจากการที่เอามันไปเดินเล่นมาทั้งวันบอกได้เลยว่า เหมาะครับ มันเหมาะจริงๆ กับตำแหน่งนี้
ด้วยระยะ 35mm ที่ติดไวด์นิดๆ มันกว้างกำลังดีสำหรับการเดินไปถ่ายไป และให้ F/2.0 มาสำหรับที่แสงน้อย หรือเอาไว้ละลายหลังพองาม

เจ้า Creator 35mm F/2.0 ตัวนี้ เหมาะกับคนที่ใช้กล้อง Full Frame ที่ออกจะขี้เกียจหน่อย และชอบใช้ระยะ 35mm เดินเที่ยวไปไหนมาไหน เพราะ F/2.0 กับโฟกัสใกล้สุด 0.25m ช่วยให้มันได้ภาพแทบจะทุกอย่างที่อยากจะได้แล้วล่ะ



จะบ่นหน่อยก็ตรงฟิลเตอร์ขนาด 55mm ที่หาอุปกรณ์เสริมพวกฝาปิดหน้าเลนส์ ฟิลเตอร์ ฮูด ยากไปนิดนึง

สำหรับ Full Frame เป็นอะไรที่ดูจะเหมาะสมกันจริงๆ
แต่ถ้าไม่ใช่กล้อง Full Frame นะ...บางทีเราก็อาจมีตัวเลือกอื่นที่เหมาะกว่าเจ้านี่ก็ได้

สุดท้ายต้องขออภัยด้วย ที่ผมหากล้อง Full Frame มาใส่กับกล้องตัวนี้ไม่ได้ เลยต้องใช้ Full Frame เก๊ๆ ไปก่อน
เอาล่ะ...จบเนอะ ไว้เจอกันใหม่บล็อคถัดไป เมื่อมีอะไรมาให้เขียน :D

ภาพแถม ไร้สาระแบบเน้นๆ










วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ฟิลเตอร์หน้าเลนส์ คืออะไร เลือกยังไง...ไปดู!

สิ่งหนึ่งที่คนซื้อกล้องมา ส่วนใหญ่เลยน่าจะถูกพนักงานร้าน  หลอกล่อ  เชิญชวนให้ซื้อฟิลเตอร์ติดหน้าเลนส์มาด้วย ซึ่งถามว่า ฟิลเตอร์เป็นสิ่งที่จำเป็นรึเปล่า...ส่วนตัวแล้วผมลอบติดฟิลเตอร์ไว้กับเลนส์บางตัว แต่การติดฟิลเตอร์นั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ขึ้นกับการเลือกใช้งานด้วย
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกล้อง DSLR หรือ Mirrorless หรือแม้กระทั่งกล้อง Compact บางรุ่น ก็มักจะใส่ฟิลเตอร์ได้ นั่นหมายถึงมันเป็นเรื่องใกล้ตัวคนใช้กล้องมากกว่าที่คิดนะเออ

แล้วฟิลเตอร์เนี่ยมันเลือกยังไง...ไปดู


ฟิลเตอร์ คืออะไร

ฟิลเตอร์ คือแผ่นที่ติดอยู่บริเวณหน้าเลนส์ อาจทำจากกระจก พลาสติก หรือวัสดุอื่นๆ

โดยฟิลเตอร์นั้นถูกแบ่งหลักๆ ออกเป็น 5 ประเภทด้วยกัน ดังนี้
*5 ประเภทนี่ผมแบ่งเองนะ

1. UV filter / Protect filter


มันคือฟิลเตอร์ใสครับ...
ไม่มีเอฟเฟกต์พิเศษต่อภาพ ช่วยปกป้องหน้าเลนส์เท่านั้น ติดไว้ประหนึ่งประกันภัยเลยก็ว่าได้ ปกป้องหน้าเลนส์ได้สารพัด ตั้งแต่ฝุ่น ละอองน้ำกระเด็น ไปถึงช่วยให้หน้าเลนส์ไม่แตกเวลาร่วงลงพื้น
แถมเวลาทำความสะอาด เราถูฟิลเตอร์แล้วทำความสะอาดง่ายกว่าเช็ดหน้าเลนส์ตรงๆ ด้วย

และเป็นฟิลเตอร์เพียงชนิดเดียว ที่ผมแนะนำให้ติดหน้าเลนส์เอาไว้
(ฟิลเตอร์แบบอื่นๆ ก็ช่วนปกป้องหน้าเลนส์ได้เหมือนกัน แต่มักมีข้อเสียในการใช้งาน ทำให้ลำบากต่อการติดไว้หน้าเลนส์ตลอด)


2. ND filter



ฟิลเตอร์ลดแสง มักใช้ในกรณีที่อยากใช้สปีดชัตเตอร์ต่ำมากๆ แต่มีแสงรอบข้างเยอะเกินไป
ก็มช้เจ้านี่ช่วยลดแสงให้เข้าเลนส์น้อยลง คิดซะว่าเป็นแว่นกันแดดก็ได้
ตัว ND filter จะมีเบอร์กำกับไว้ด้วย เช่น ND2 , ND8 , ND16 เป็นต้น โดยจะลดแสงได้มากขึ้นตามเลขที่สูงขึ้น
โดยมีสูตรคือ 2^stop = เลข ND
เช่น ND8 ลดแสงได้ 3stop (2^3 = 8)

ใช้เสร็จแล้วอย่าลืมถอดล่ะ มันมืด...


3. Polarizer filter (PL/CPL)


คุณสมบัติของเลนส์โพราไรซ์ คือลดแสงสะท้อนครับ
ที่เห็นบ่อยที่สุดคือ ทำให้สีท้องฟ้าเข้มขึ้น หรือบางทีก็ใช้คุณสมบัตินี้เวลาถ่ายภาพในตู้กระจก ถ่ายปลาในบ่อปลาก็ได้ไม่ว่ากัน
เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมี PL ให้เห็นแล้ว จะเป็น CPL ซะมากกว่า
(C คือ Circle หมายถึงฟิลเตอร์แบบกลม ใช้แปะหน้าเลนส์เลยน่ะ)
เวลาใช้ CPL จะพิดเศษกว่าฟิลเตอร์อื่นๆ นิดหน่อยตรงที่ ตัวฟิลเตอร์เองจะมี 2 ชั้น เราต้องหมุนชั้นบนไปมาเพื่อตัดแสงสะท้อนในมุมที่พอเหมาะด้วยตัวเอง
อ้อ! ฟิลเตอร์พวกนี้กินแสง 2stop ด้วยนะครับ (กินแสงเท่า ND4)

Tips: การใข้ CPL ไม่ควรหันกล้องไปในทิศทางเดียวกับแหล่งกำเนิดแสง(เช่น หันกล้องไปทางดวงอาทิตย์) ควรหันกล้องให้เอียงพอสมควร จะใช้คุณสมบัติการตัดแสงได้ดีกว่า


4. Graduated filter

ผมเรียกมันว่า "ครึ่งซีก" ครับ
ลักษณะเด่นของชื่อนี้ คือเป็นฟิลเตอร์ใสครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งจะเป็นสี(ดำ เทา ส้ม ฟ้า หรือสีอื่นๆ)
ส่วนใหญ่ฟิลเตอร์ตัวนี้จะเอาไว้ถ่ายวิว เอาครึ่งใสไว้ด้านล่าง อีกครึ่งใช้สีฟ้าไว้ด้านบน เพื่อให้ท้องฟ้ามีสีฟ้ามากขึ้น ประมาณนั้น


5. ฟิลเตอร์พิเศษต่างๆ

พูดเท่าที่นึกออกนะครับ
- Closed-up filter
ทำให้ถ่ายภาพได้ใกล้ จ่อวัตถุได้ใกล้กว่าเดิม
- ฟิลเตอร์เอฟเฟกต์
เช่น ไฟแฉก หรือเปลี่ยนลายของโบเก้


เรื่องน่ารู้ก่อนซื้อฟิลเตอร์

- ฟิลเตอร์ที่ใส่แล้วคุณภาพของภาพดีขึ้น...ไม่มีอยู่จริง
ไม่ว่าจะใช้อันละสองสามร้อย หรือสองสามพัน ฟิลเตอร์ทุกอันลดคุณภาพของภาพทั้งนั้น
แค่ฟิลเตอร์แพงๆ มันจะช่วยให้ภาพดรอปน้อยกว่าเท่านั้นเอง
สิ่งที่ดรอปลงไปบ้าง จะเป็นความคม สีสัน และมักมีแฟลร์เกิดขึ้นง่ายกว่าเดิม

-ขนาดของฟิลเตอร์ที่จะต้องใช้ ดูได้จากหน้าเลนส์

- หากมีเลนส์หลายตัวที่หน้าเลนส์ขนาดไม่เท่ากัน ซื้อฟิลเตอร์ที่พอดีกับหน้าเลนส์ที่ใหญ่ที่สุด แล้วใช้ Step-up ring แปลงหน้าเลนส์ไปใส่เลนส์ที่หน้าเล็กกว่าได้

- ฟิลเตอร์ ฮูด และฝาปิดหน้าเลนส์ ใช้เลขขนาดหน้าเลนส์ตัวเดียวกัน (ถ้าเลนส์หน้า 52mm ก็ใช้ฟิลเตอร์ 52mm ฮูดขนาด 52mm)

- ฟิลเตอร์อันใหญ่ แพงกว่าอันเล็กเสมอ


สำหรับเรื่องเล็กๆ อย่างฟิลเตอร์แปะหน้าเลนส์เบื้องต้นก็มีเท่านี้ ก็หวังว่าอ่านแล้วจะเลือกได้ถูกตัว ถูกใจ และถูกตังค์นะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2559

How to ละลายหลัง ถ่ายยังไง? ไปดู...

สวัสดีผู้ที่หลงเข้ามาอ่านทุกท่าน
สำหรับยุคนี้ กล้องดิจิตอลกลายเป็นสิ่งที่คัญมากๆ ไปซะแล้ว ตั้งแต่กล้องมือถือ กล้องคอมแพค และกล้องเปลี่ยนเลนส์ตัวเล็กตัวใหญ่ทั้งหลาย และสิ่งที่มือใหม่ชอบถามกันซะเหลือเกิน ก็ไม่พ้นคำว่า "ถ่ายรูป...ละลายหลังยังไง"
สำหรับบล็อคนี้จะนำเสนอหลักการที่จะบอกว่า ทำยังไง...ถึงจะละลายหลังได้มาก
ถ้าทำได้ รับรองว่าได้โบเก้ดวงโตๆ แน่นอน!

หมายเหตุ : บทความสำหรับกล้องดิจิตอล ไม่เหมาะกับผู้ใช้กล้องมือถือ




ตัวแปรสำหรับละลายหลัง

ตัวแปรหลักๆ มีแค่ไม่กี่อย่างครับ ตามนี้
  1. รูรับแสง (F-stop)
  2. ทางยาวโฟกัสของเลนส์ (Focal length)
  3. ระยะห่างระหว่างกล้องถึงตัวแบบ
  4. ระยะห่างระหว่างตัวแบบกับฉากหลัง
  5. ขนาดเซ็นเซอร์รับภาพ
มีแค่นี้แหละ... มาดูรายละเอียดกัน

1. รูรับแสง (F-stop)

รูรับแสง เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายที่สุดแล้วครับ
ยิ่งเราใช้เลนส์ที่ F-stop ต่ำ เราได้จะได้แสงเพิ่มขึ้น และ DOF บางลง และจุดนอกโฟกัสจะชัดขึ้นเมื่อค่า F-stop สูงขึ้น ตามภาพ

คำบรรยายใต้ภาพ จากซ้ายไปขวา : ค่า F-stop / สปีดชัตเตอร์ / ISO
ตัวอย่างค่ารูรับแสง หากภาพเล็กเกิน คลิกขวา -> เปิดรูปภาพในแท็บใหม่


2. ทางยาวโฟกัสของเลนส์ (Focal length)

เป็นเรื่องที่สำคัญพอๆ กับค่า F ข้างบน โดยให้เข้าใจไว้เลยว่า ยิ่งใช้เลนส์ช่วงยาวๆ ฉากหลังจะดูเบลอมากกว่าเลนส์ช่วงสั้นๆ
ภาพเปรียบเทียบความสามารถของการละลายหลัง ของเลนส์ในแต่ละระยะ

ผมเทสด้วยเลนส์ 4 ระยะ ซึ่งใช้ F ต่ำที่สุดเท่าที่เลนส์ตัวนั้นจะทำได้นะครับ
จากภาพ จะเห็นว่าฉากหลังเบลอมากขึ้นตามทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่สูงขึ้น ทั้งๆ ที่เลนส์ระยะยาวๆ มี F-stop ต่ำกว่าด้วยซ้ำ
หมายความว่า นอกจากค่า F ที่ต้องต่ำแล้ว ทางยาวโฟกัสของเลนส์ก็มีผลมากด้วย
ยิ่งใช้เลนส์ช่วงยาว และ F ต่ำด้วย ก็ยิ่งละลายหลังได้มาก โบเก้ดวงใหญ่ตามไปด้วย

แต่ทั้งนี้ จะเลือกเลนส์ที่ช่วงเท่าไร ก็ขึ้นกับความชอบและโอกาสในการใช้งานด้วย ว่าจะถอยไหวมั้ย ส่วนตัวถ้าใช้ถ่ายคน ผมชอบ 85mm F1.8 มากที่สุดแล้วครับ
(ผมใช้กับกล้อง Sony Nex-5R ที่เป็นกล้อง APS-C ตัวคูณ x1.5 ซึ่งระยะ 85mm ไม่ได้ถอยลำบากเท่าไร และได้โบเก้ดวงใหญ่เพียงพอแล้ว)


3. ระยะห่างระหว่างกล้องถึงตัวแบบ

เมื่อเราเข้าใกล้วัตถุที่โฟกัสมากขึ้น ฉากหลังจะถูกเบลอมากขึ้นด้วย
เข้าใจเท่านี้พอ...
ระยะปกติ

โฟกัสใกล้กว่าเดิม

ตรงนี้ไม่ต้องดูอะไรมาก ดูภาพ และสังเกตุฉากหลังก็พอ
จากภาพ จะเห็นว่า เมื่อเข้าใกล้วัตถุมากขึ้น ฉากหลังที่ดูรกๆ จะเบลอมากกว่าเดิมด้วย
และนี่คือสาเหตุที่กล้องมือถือเองก็ถ่ายหลังเบลอได้ หากถ่ายวัตถุในระยะใกล้ๆ
กล้องมือถือก็ละลายหลังได้ แต่ต้องถ่ายวัตถุที่ระยะใกล้ๆ

เพราะถ่ายในระยะใกล้มาก ถึงจะเป็นเซ็นเซอร์รับภาพจิ๋วๆ ของกล้องมือถือ ก็ละลายหลังได้เหมือนกัน
แต่ถ้าจะเอาไปถ่ายคนครึ่งตัว...ลืมๆ เรื่องนี้ไปเถอะ


4. ระยะห่างระหว่างตัวแบบกับฉากหลัง

เวลาถ่ายภาพที่เน้นละลายหลัง จำเป็นต้องหาฉากหลังที่ไกลตัวแบบหน่อยนะครับ
เพราะถ้าเรามีฉากหลังที่ไกลหน่อย ฉากหลังจะดูเบลอมากขึ้นด้วย
ตามภาพเลยครับ
ฉากหลังอยู่ใกล้

ฉากหลังอยู่ไกล

จากภาพ ลองสังเกตุต้นมะพร้าวในภาพที่ 2 จะเห็นว่าโบเก้ดวงใหญ่กว่าและฉากหลังฝั่งซ้ายดูเบลอกว่าฝั่งขวาด้วย


5. ขนาดเซ็นเซอร์รับภาพ

อันนี้ต้องไปอ่านเรื่อง ทำความรู้จักกับ Crop factor บนกล้องตัวคูณ และการเทียบระยะ ก่อนซักรอบนึง
การที่ภาพของเราโดนครอปด้วยขนาดของเซ็นเซอร์รับภาพ มีผลทำให้เราใช้การละลายหลังตามข้อ 3. ยากขึ้น เพราะหากใช้เลนส์ระยะเดียวกัน กล้องตัวคูณต้องถอยมากกว่าเดิมเพื่อให้ได้ตัวแบบขนาดเท่ากัน

แถมท้ายเรื่อง DOF

DOF เป็นคำที่มาคู่กับความรู้เรื่องการถ่ายภาพละลายหลังเลยล่ะครับ โดย
DOF(Depth of Field) เป็นชื่อเรียกพื้นที่ที่ภาพชัด หากพูดถึงภาพชัดตื้น หรือ DOF บาง จะหมายถึงภาพที่มีระนาบความคมชัดน้อย ฉากหน้าเบลอ ฉากหลังเบลอ จุดโฟกัสชัด
และหากพูดถึงภาพชัดลึก หรือ DOF หนา จะหมายถึงภาพที่มีระนาบความคมชัดสูง ฉากหน้าและหลังเบลอน้อย หรือชัดทั้งภาพเลยก็ได้
ภาพหน้าเบลอ หลังเบลอ

จะเห็นว่า ผมโฟกัสเหรียญที่ 2 และจุดที่ห่างจากจุดโฟกัสจะเบลอมากขึ้นเรื่อยๆ (เหรียญที่ 4 เบลอกว่าเหรียญที่ 3) นี่เป็นเหตุผลที่บอกให้อยู่ห่างจากฉากหลังไว้บ้าง หากต้องการภาพถ่ายละลายหลัง

เรื่องราวของการละลายหลังก็ประมาณนี้ หากไม่เข้าใจก็กลับขึ้นไปอ่านใหม่ เอ้ย ลองสอบถาม หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมดูนะครับ


FAQ

ต่อไปเป็น FAQ ที่น่าจะถามกันเยอะ
Q: ถ้าอยากซื้อเลนส์ถ่ายคน เน้นละลายหลัง ควรเลือกเลนส์อะไร
A: เบื้องต้น ใช้เลนส์ระยะ 35mm สำหรับกล้องตัวคูณ x1.5 (APS-C) และ 25mm บนกล้อง x2 (M4/3) และเลือกตัวที่ F ต่ำหน่อย (F1.8 หรือต่ำกว่าก็ดี) หรือระยะยาวกว่านี้เท่าที่จะถ่ายไหว

Q: เลนส์คิต ละลายหลังได้มั้ย
A: ได้ครับ แต่ก็ได้เท่าที่ความสามารถมันจะไหว
วิธีการถ่าย ใช้โหมด A ซูมสุด ตั้งค่า F ให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้(น่าจะ F5.6) แล้วก็เข้าใกล้ตัวแบบเยอะๆ หน่อย(เหลือฉากหลังน้อยๆ) ก็จะเห็นฉากหลังเบลอๆ ออกมาบ้างครับ

Q: เลนส์ระยะไหน ละลายหลังดีที่สุด
A: ถ้าเป็นเลนส์ฟิกส์ เริ่มที่ 50mm(ระยะเทียบเท่า FF) ขึ้นไปเลยครับ และก็เพิ่มระยะเรื่อยๆ จนถอยไม่ไหวกันไปข้าง ><
ส่วนตัวผมสบายๆ ที่ 85mm ครับ(กล้อง APS-C) ระยะถ่ายคนครึ่งตัวกำลังดี โบเก้ดวงใหญ่ใช้ได้แล้ว
ระยะยาวกว่านี้ สำหรับผมเริ่มจะลำบาก แต่อันนี้ก็แล้วแต่คนด้วย

Q: ใช้ F ต่ำแล้วโฟกัสยาก แก้ไขยังไง
A: เป็นปกติครับ ยิ่งที่เลนส์ละลายหลังดี หมายถึงมีจุดชัดน้อย การโฟกัสให้เข้าก็จะยากตามไปด้วย หากใช้เลนส์มือหมุน ลองดูว่าตัวกล้องมีระบบช่วยโฟกัสหรือไม่(กล้อง Mirrorless จะสะดวกกว่าตรงนี้) แล้วเปิดใช้ระบบช่วยโฟกัส
หรืออีกวิธีคือ เพิ่มค่า F ให้สูงขึ้น ระยะชัดจะมากขึ้น ทำให้โฟกะสง่ายขึ้นตามไปด้วย แต่ก็จะละลายหลังน้อยลง
ตรงนี้ตรงกับคำว่า High-risk High-return ครับ ความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนยิ่งงาม

ก็ประมาณนี้ล่ะครับ กับการถ่ายภาพแนวละลายหลัง
หวังว่า จะเลือกเลนส์ที่เหมาะกับตัวเอง และสนุกกับการละลายฉากหลังนะครับ สวัสดี. . .

วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2559

ทำความรู้จักกับ Crop factor บนกล้องตัวคูณ และการเทียบระยะ

เรื่องนี้อาจเป็นอะไรที่ปวดหัวไม่น้อย สำหรับคนที่เพิ่งจะเล่นกล้อง
ที่ต้องคอยถามว่า เลนส์นี้ใส่กล้องนี้ ระยะเท่าไร โดยที่ไม่ได้เข้าใจเลยว่าทำไมถึงกลายเป็นระยะเท่านี้
ซึ่งสำหรับคนใช้กล้อง DSLR น่าจะคุ้นเคยกับคำว่ากล้อง FF กับกล้องตัวคูณ
แล้ว... ทำไมถึงเรียกตัวคูณ ถ้าสงสัย ด้านล่างมีคำตอบให้ครับ

Crop Factor คืออะไร

ก่อนอื่นต้องบอกว่า Crop factor มีไว้สำหรับเทียบองศารับภาพของเลนส์ ระหว่างกล้อง 2 ตัวที่มีเซ็นเซอร์รับภาพขนาดต่างกัน
ซึ่งตัวเซ็นเซอร์รับภาพ คือพื้นที่ที่ตัวกล้องเก็บข้อมูลภาพจากเลนส์ที่ถ่ายออกมาได้
เป็นพื้นที่กรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีเขียวๆ ด้านในกล้อง(ภาพด้านล่าง)

credit : http://www.theinspiredeye.net
บน : เซ็นเซอร์ขนาด Full Frame
ล่าง เซ็นเซอร์ขนาด APS-C

*ที่ใช้ตัวอย่างเป็นกล้อง Mirrorless เพราะมันเห็นส่วนของเซ็นเซอร์รับภาพง่ายกว่ากล้อง DSLR น่ะ

ด้วยความที่กล้องแต่ละฟอร๋แมต มีขนาดเซ็นเซอร์รับภาพไม่เท่ากัน ก็เลยส่งผลทำให้ภาพที่ได้ต่างกันไปด้วย ตามภาพด้านล่าง
credit : http://www.better-digital-photo-tips.com

เหตุที่ถูกเรียกว่า Crop factor ก็เพราะหากเทียบกล้องที่เซ็นเซอร์รับภาพใหญ่ กับกล้องเซ็นเซอร์รับภาพเล็ก ภาพที่ได้จากเซ็นเซอร์ที่เล็กกว่าจะเหมือนถูกหั่นขอบออกไป(เหมือนการ Crop ภาพออกด้วยโปรแกรม)
นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมกล้องที่มีขนาดเซ็นเซอร์รับภาพไม่เท่ากัน ถึงต้องมีการเทียบทางยาวโฟกัสของเลนส์เมื่อเทียบระหว่างกล้องที่มีขนาดเซ็นเซอร์รับภาพใหญ่ไม่เท่ากัน

แล้ว...ใช้เทียบกันยังไง

Crop factor มักเอาไว้เทียบองศารับภาพของเลนส์ กับกล้องที่เซ็นเซอร์รับภาพขนาดไม่เท่ากัน โดยเทียบกับ FF เป็นหลัก
โดยตามสูตร จะกำหนดให้มีตัวคูณดังนี้ (ขอระบุเฉพาะกล้องเปลี่ยนเลนส์ได้นะครับ)
x1    = Full Frame (Canon EF , Nikon FX , Sony A7 เป็นต้น)
x1.5 = APS-C (Nikon DX , Sony
x1.6 = APS-C (Canon EF-S)
x2    = M4/3 (Olympus , Panasonic)
x2.7 = Nikon1 , Samsung NX-mini
x4.7 = Pentax Q7 , Q-S1
x5.6 = Pentax Q,Q10

วิธีคำนวนก็ไม่ยากครับ สูตรมีแค่ ทางยาวโฟกัส x Crop factor = ทางยาวโฟกัส(เทียบเท่า FF)
ตัวอย่าง
ใช้กล้อง Nikon D5500 ติดเลนส์ 35mm F1.8 ต้องการรู้ว่าจะได้องศา
ตัว D5500 เป็นกล้อง APS-C ใช้ Crop factor x1.5
อ้างสูตรมาเลย จะได้ 35 x 1.5 = 52.5mm

สรุปได้ว่า กล้อง Nikon D5500 ซึ่งเป็นกล้องตัวคูณ(APS-C x1.5) เมื่อใช้เลนส์ 35mm
จะได้องศารับภาพเทียบเท่ากล้อง Full Frame (x1) ที่ใช้เลนส์ 50mm
หากใช้กล้องขนาดอื่น ก็เปลี่ยนค่าเอานะครับ

เมื่อไรที่จะต้องเอา Crop factor มาเทียบกัน

ใช้เมื่อต้องการทราบว่า เลนส์ระยะนี้ของกล้องเรา จะได้ระยะกว้างกว่า เท่ากัน หรือแคบกว่ากล้องอีกตัวหรือไม่
เช่น Fuji X-A2 + 27mm F/2.8 เทียบกับ Olympuis E-PL7 + 20mm F/1.7 ตัวไหนได้ภาพกว้างกว่า?
หรือ กล้อง Canon 6D + 85mm F/1.2 เทียบกับ Panasonic GX8 + 42.5mm F/1.2 ตัวไหนได้ภาพกว้างกว่า?
ไม่ก็ Sony A7 + 50mm F1.8 เทียบกับ Sony a6000 + 35mm F1.8 ตัวไหนได้ภาพกว้างกว่า?
ถ้ารู้ว่ากล้องตัวไหนใช้ Crop factor เท่าไร อยากให้ลองคูณตามสูตรดู จะรู้คำตอบครับ...
...ว่าโดนผมแกล้ง :p

จริงๆ แล้ว ผู้ผลิตคูณระยะให้เรียบร้อยแล้ว

แม้สูตรจะดูน่าปวดหัวไปหน่อยสำหรับคนที่ไม่คุ้ยเคยกับเรื่องนี้
แต่ด้วยคำว่าเลนส์คิต คือระยะที่ครอบคลุมสำหรับผู้ใช้ทั่วๆ ไป ซึ่งไม่ว่าจะกล้องอะไร มันก็จะได้ระยะเลนส์ที่กว้างพอๆ กัน
ตรงนี้ผู้ผลิตเขาคิดไว้แล้วครับ ว่าทำยังไงมันถึงจะกว้างพอๆ กัน
ถ้ามีโบวชัวร์ร้านกล้องติดมือมา สังเกตุชุดคิตที่มากับกล้องนะครับ จะเห็นว่าระยะมันไม่เท่ากัน

ตัวอย่างเช่น
Full Frame : Nikon D750 + 24-120mm
APS-C : Sony a6000 + 16-70mm
M4/3 : Olympus E-M5 II + 12-40mm
ลองคูณดู จะเห็นว่าระยะเริ่มต้นกว้างพอๆ กันเลยครับ

FAQ  คำถามที่น่าจะสงสัย

Q : เทียบระยะเลนส์โดยไม่คูณได้รึเปล่า
A : ได้ หากเทียบระหว่างกล้องที่มีขนาดเซ็นเซอร์เท่าๆ กัน อย่างเช่น Nikon D5500 , Sony a6000 , Fuji X-E2 ซึ่งพวกนี้มีขนาดเซ็นเซอร์รับภาพเท่ากัน ใช้ x1.5 เท่ากัน ก็สามารถเทียบกันโดยไม่ต้องคูณ ก็ได้

Q : แบบนี้ ถ้าใช้เลนส์ที่คูณแล้วระยะเท่ากัน ภาพที่ได้จะเหมือนกันใช่มั้ย
A : ไม่ใช่ คือเรื่อง Crop factor จะช่วยเทียบเรื่ององศารับภาพ ที่ได้เท่านั้น ว่ากว้างเท่ากันหรือไม่
แต่ลักษณะอื่นๆ ที่มากับเลนส์ทางยาวโฟกัสนั้นๆ อย่างเช่นเรื่อง Perspective หรือ DOF ที่ได้จากเลนส์ระยะนั้นๆ จะได้ไม่เหมือนกัน เพราะใช้เลนส์ต่างระยะกัน แค่คูณแล้วได้ภาพกว้างใกล้เคียงกันเท่านั้น

Q : ถ้าไม่ได้เทียบกับกล้อง FF ล่ะ อยากเทียบกับกล้องขนาดอื่น
A : วิธีอย่างง่ายแบบไม่ต้องงงมาก คือคูณระยะให้เป็น FF ทั้งคู่ แล้วค่อยเทียบกัน
เช่น กล้อง Fuji X-A2 + 27mm F/2.8
เทียบกับ Olympuis E-PL7 + 20mm F/1.7
Fuji เทียบกับ FF จะได้ 27mm x 1.5 = 40.5mm
Oly เทียบกับ FF จะได้ 20mm x 2     = 40mm
พอเป็นระยะบน FF แล้ว มันจะเห็นภาพง่ายขึ้นเยอะ ว่าได้ภาพกว้างใกล้เคียงกัน


ไหนๆ ก็พูดถึงเรื่อง Crop factor แล้ว ปิดท้ายด้วยการเทียบขนาดเซนเซอร์กล้องดิจิตอล กับกล้องมือถือกันหน่อย
สังเกตุกรอบสีเทานอกสุดคือ Full Frame
สีฟ้าและแดง คือ APS-C
สีเขียว คือ M4/3
สีเหลือง ขนาด 1/3" นั่นน่ะ ของ iPhone 6 ครับ เล็กจิ๋ว นิดเดียวเท่านั้น
ก็ไม่ต้องถามเลย ว่าทำไมกล้องแท้ๆ ถึงให้คุณภาพของภาพถ่ายได้ดีกว่ากล้องมือถือ เนื่องด้วยขนาด
ของเซ็นเซอร์รับภาพที่แตกต่างกันมากนั่นเอง

Tips : เซ็นเซอร์รับภาพที่ขนาดใหญ่ ในทางเทคนิคจะให้คุณภาพไฟล์ที่ดีกว่า

หากมีปัญหา ข้อสงสัย สอบถามได้ที่เพจ Light Capture เลยครับ ไม่มั่นใจว่าช่วงนี้จะได้เข้ามาดูบล็อคบ่อยรึเปล่า

ขอบคุณทุกท่านที่  กลั้นใจ  ตั้งใจอ่านจนจบครับ สวัสดี. . .

วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ทำความรู้จักกับพื้นฐานของกล้อง [F-stop , Speed shutter , ISO]

สวัสดี...ผู้ที่หลงเข้ามาทุกท่าน
เมื่อไรก็ตามที่เราอยากจะปรับตั้งค่ากล้องเองบ้าง อาจจะไม่อยากพึ่งโหมด Auto ที่ไม่ค่อยจะได้ดั่งใจ หรือไปอ่าน Tips ทั้งหลายแหล่แล้วอยากจะลองทำตามดู สิ่งที่เราจะเจอแน่ๆ มีอยู่ 3 ชื่อด้วยกัน

  • F-stop (รูรับแสง)
  • Speed shutter (ความเร็วชัตเตอร์)
  • ISO

ก็มีแค่ 3 ค่านี้แหละ วนไปวนมา ซึ่งนี่เป็นค่าพื้นฐานที่จะช่วยให้คุณได้ภาพดั่งที่คุณต้องการแน่นอน
ถ้าควบคุมได้ และใช้อุปกรณ์ถูกต้องตามหลักการนะ
รายละเอียดและตัวอย่าง เลื่อนลงไปด้านล่างเลยครับ


F-stop หรือรูรับแสง 

คือใบเบลดที่อยู่ในเลนส์ เปิดให้กว้างได้ หรี่ให้แคบก็ได้
มีหน้าที่หลักๆ 2 อย่าง คือควบคุมปริมาณแสง(เปิดกว้าง แสงมาก) และควบคุม DOF(การละลายหลัง ถ้า F ต่ำ ละลายมาก)




Tips : จำนวนใบเบลดในเลนส์ มีผลต่อเหลี่ยมของโบเก้ และแฉกเวลาถ่ายไฟแฉกด้วย
ตัวอย่างใบเบลดในเลนส์ เลนส์ตัวนี้หากหรี่ F จะได้โบเก้ 6 เหลี่ยม และแฉกไฟ 6 แฉก
(ไว้ค่อยลงลึกทีหลัง)

Speed shutter หรือ ความเร็วชัตเตอร์

ชื่อนี้เป็นชื่อที่ใช้เรียกความเร็วในการลั่นชัตเตอร์ ซึ่งสัมพันธ์กับการหยุดความเคลื่อนไหวของภาพ
หากตั้งสปีดไว้สูงๆ จะหยุดการเคลื่อนไหวของวัตถุที่เคลื่อนที่เร็วๆ ได้
และหากลดสปีดต่ำๆ(เปิดหน้ากล้องนาน) จะได้แสงเข้าไปยังภาพมากขึ้น

ตัวอย่างการใช้สปีดชัตเตอร์ หยุดความเคลื่อนไหวของวัตถุ


สังเกตุที่สปีด 1/1250s. ที่มากที่สุดในภาพ ใบพัดจะเหมือนหยุดนิ่ง แต่เมื่อลดสปีดลงเรื่อยๆ ใบพัดก็จะเริ่มเบลอ(กล้องจับภาพไม่ทัน)

ตัวอย่างการใช้งานแบบสปีดชัตเตอร์ต่ำ (ควรใช้ร่วมกับขาตั้งกล้อง)
ไฟรถเป็นเส้น จากการใช้สปีดชัตเตอร์ต่ำ

ISO

เรียกง่ายๆ ว่าค่าโกงแสงละกัน
ค่า ISO นี้ ถ้าใช้สูงขึ้น ภาพจะสว่างขึ้น แต่ก็จะเกิด Noise มากขึ้นด้วย(Noise คือสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้า ทำให้ภาพเกิดเม็ดเกรนหยาบๆ สีเพี้ยนๆ) ซึ่งกล้องที่ใช้เทคโนโลยีดีๆ จะเห็น Noise ได้น้อยกว่าที่ ISO เท่ากัน

ปิดท้ายด้วยการฝากเพจขายของครับ https://www.facebook.com/lightcapture.shop/