วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2559

How to ละลายหลัง ถ่ายยังไง? ไปดู...

สวัสดีผู้ที่หลงเข้ามาอ่านทุกท่าน
สำหรับยุคนี้ กล้องดิจิตอลกลายเป็นสิ่งที่คัญมากๆ ไปซะแล้ว ตั้งแต่กล้องมือถือ กล้องคอมแพค และกล้องเปลี่ยนเลนส์ตัวเล็กตัวใหญ่ทั้งหลาย และสิ่งที่มือใหม่ชอบถามกันซะเหลือเกิน ก็ไม่พ้นคำว่า "ถ่ายรูป...ละลายหลังยังไง"
สำหรับบล็อคนี้จะนำเสนอหลักการที่จะบอกว่า ทำยังไง...ถึงจะละลายหลังได้มาก
ถ้าทำได้ รับรองว่าได้โบเก้ดวงโตๆ แน่นอน!

หมายเหตุ : บทความสำหรับกล้องดิจิตอล ไม่เหมาะกับผู้ใช้กล้องมือถือ




ตัวแปรสำหรับละลายหลัง

ตัวแปรหลักๆ มีแค่ไม่กี่อย่างครับ ตามนี้
  1. รูรับแสง (F-stop)
  2. ทางยาวโฟกัสของเลนส์ (Focal length)
  3. ระยะห่างระหว่างกล้องถึงตัวแบบ
  4. ระยะห่างระหว่างตัวแบบกับฉากหลัง
  5. ขนาดเซ็นเซอร์รับภาพ
มีแค่นี้แหละ... มาดูรายละเอียดกัน

1. รูรับแสง (F-stop)

รูรับแสง เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายที่สุดแล้วครับ
ยิ่งเราใช้เลนส์ที่ F-stop ต่ำ เราได้จะได้แสงเพิ่มขึ้น และ DOF บางลง และจุดนอกโฟกัสจะชัดขึ้นเมื่อค่า F-stop สูงขึ้น ตามภาพ

คำบรรยายใต้ภาพ จากซ้ายไปขวา : ค่า F-stop / สปีดชัตเตอร์ / ISO
ตัวอย่างค่ารูรับแสง หากภาพเล็กเกิน คลิกขวา -> เปิดรูปภาพในแท็บใหม่


2. ทางยาวโฟกัสของเลนส์ (Focal length)

เป็นเรื่องที่สำคัญพอๆ กับค่า F ข้างบน โดยให้เข้าใจไว้เลยว่า ยิ่งใช้เลนส์ช่วงยาวๆ ฉากหลังจะดูเบลอมากกว่าเลนส์ช่วงสั้นๆ
ภาพเปรียบเทียบความสามารถของการละลายหลัง ของเลนส์ในแต่ละระยะ

ผมเทสด้วยเลนส์ 4 ระยะ ซึ่งใช้ F ต่ำที่สุดเท่าที่เลนส์ตัวนั้นจะทำได้นะครับ
จากภาพ จะเห็นว่าฉากหลังเบลอมากขึ้นตามทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่สูงขึ้น ทั้งๆ ที่เลนส์ระยะยาวๆ มี F-stop ต่ำกว่าด้วยซ้ำ
หมายความว่า นอกจากค่า F ที่ต้องต่ำแล้ว ทางยาวโฟกัสของเลนส์ก็มีผลมากด้วย
ยิ่งใช้เลนส์ช่วงยาว และ F ต่ำด้วย ก็ยิ่งละลายหลังได้มาก โบเก้ดวงใหญ่ตามไปด้วย

แต่ทั้งนี้ จะเลือกเลนส์ที่ช่วงเท่าไร ก็ขึ้นกับความชอบและโอกาสในการใช้งานด้วย ว่าจะถอยไหวมั้ย ส่วนตัวถ้าใช้ถ่ายคน ผมชอบ 85mm F1.8 มากที่สุดแล้วครับ
(ผมใช้กับกล้อง Sony Nex-5R ที่เป็นกล้อง APS-C ตัวคูณ x1.5 ซึ่งระยะ 85mm ไม่ได้ถอยลำบากเท่าไร และได้โบเก้ดวงใหญ่เพียงพอแล้ว)


3. ระยะห่างระหว่างกล้องถึงตัวแบบ

เมื่อเราเข้าใกล้วัตถุที่โฟกัสมากขึ้น ฉากหลังจะถูกเบลอมากขึ้นด้วย
เข้าใจเท่านี้พอ...
ระยะปกติ

โฟกัสใกล้กว่าเดิม

ตรงนี้ไม่ต้องดูอะไรมาก ดูภาพ และสังเกตุฉากหลังก็พอ
จากภาพ จะเห็นว่า เมื่อเข้าใกล้วัตถุมากขึ้น ฉากหลังที่ดูรกๆ จะเบลอมากกว่าเดิมด้วย
และนี่คือสาเหตุที่กล้องมือถือเองก็ถ่ายหลังเบลอได้ หากถ่ายวัตถุในระยะใกล้ๆ
กล้องมือถือก็ละลายหลังได้ แต่ต้องถ่ายวัตถุที่ระยะใกล้ๆ

เพราะถ่ายในระยะใกล้มาก ถึงจะเป็นเซ็นเซอร์รับภาพจิ๋วๆ ของกล้องมือถือ ก็ละลายหลังได้เหมือนกัน
แต่ถ้าจะเอาไปถ่ายคนครึ่งตัว...ลืมๆ เรื่องนี้ไปเถอะ


4. ระยะห่างระหว่างตัวแบบกับฉากหลัง

เวลาถ่ายภาพที่เน้นละลายหลัง จำเป็นต้องหาฉากหลังที่ไกลตัวแบบหน่อยนะครับ
เพราะถ้าเรามีฉากหลังที่ไกลหน่อย ฉากหลังจะดูเบลอมากขึ้นด้วย
ตามภาพเลยครับ
ฉากหลังอยู่ใกล้

ฉากหลังอยู่ไกล

จากภาพ ลองสังเกตุต้นมะพร้าวในภาพที่ 2 จะเห็นว่าโบเก้ดวงใหญ่กว่าและฉากหลังฝั่งซ้ายดูเบลอกว่าฝั่งขวาด้วย


5. ขนาดเซ็นเซอร์รับภาพ

อันนี้ต้องไปอ่านเรื่อง ทำความรู้จักกับ Crop factor บนกล้องตัวคูณ และการเทียบระยะ ก่อนซักรอบนึง
การที่ภาพของเราโดนครอปด้วยขนาดของเซ็นเซอร์รับภาพ มีผลทำให้เราใช้การละลายหลังตามข้อ 3. ยากขึ้น เพราะหากใช้เลนส์ระยะเดียวกัน กล้องตัวคูณต้องถอยมากกว่าเดิมเพื่อให้ได้ตัวแบบขนาดเท่ากัน

แถมท้ายเรื่อง DOF

DOF เป็นคำที่มาคู่กับความรู้เรื่องการถ่ายภาพละลายหลังเลยล่ะครับ โดย
DOF(Depth of Field) เป็นชื่อเรียกพื้นที่ที่ภาพชัด หากพูดถึงภาพชัดตื้น หรือ DOF บาง จะหมายถึงภาพที่มีระนาบความคมชัดน้อย ฉากหน้าเบลอ ฉากหลังเบลอ จุดโฟกัสชัด
และหากพูดถึงภาพชัดลึก หรือ DOF หนา จะหมายถึงภาพที่มีระนาบความคมชัดสูง ฉากหน้าและหลังเบลอน้อย หรือชัดทั้งภาพเลยก็ได้
ภาพหน้าเบลอ หลังเบลอ

จะเห็นว่า ผมโฟกัสเหรียญที่ 2 และจุดที่ห่างจากจุดโฟกัสจะเบลอมากขึ้นเรื่อยๆ (เหรียญที่ 4 เบลอกว่าเหรียญที่ 3) นี่เป็นเหตุผลที่บอกให้อยู่ห่างจากฉากหลังไว้บ้าง หากต้องการภาพถ่ายละลายหลัง

เรื่องราวของการละลายหลังก็ประมาณนี้ หากไม่เข้าใจก็กลับขึ้นไปอ่านใหม่ เอ้ย ลองสอบถาม หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมดูนะครับ


FAQ

ต่อไปเป็น FAQ ที่น่าจะถามกันเยอะ
Q: ถ้าอยากซื้อเลนส์ถ่ายคน เน้นละลายหลัง ควรเลือกเลนส์อะไร
A: เบื้องต้น ใช้เลนส์ระยะ 35mm สำหรับกล้องตัวคูณ x1.5 (APS-C) และ 25mm บนกล้อง x2 (M4/3) และเลือกตัวที่ F ต่ำหน่อย (F1.8 หรือต่ำกว่าก็ดี) หรือระยะยาวกว่านี้เท่าที่จะถ่ายไหว

Q: เลนส์คิต ละลายหลังได้มั้ย
A: ได้ครับ แต่ก็ได้เท่าที่ความสามารถมันจะไหว
วิธีการถ่าย ใช้โหมด A ซูมสุด ตั้งค่า F ให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้(น่าจะ F5.6) แล้วก็เข้าใกล้ตัวแบบเยอะๆ หน่อย(เหลือฉากหลังน้อยๆ) ก็จะเห็นฉากหลังเบลอๆ ออกมาบ้างครับ

Q: เลนส์ระยะไหน ละลายหลังดีที่สุด
A: ถ้าเป็นเลนส์ฟิกส์ เริ่มที่ 50mm(ระยะเทียบเท่า FF) ขึ้นไปเลยครับ และก็เพิ่มระยะเรื่อยๆ จนถอยไม่ไหวกันไปข้าง ><
ส่วนตัวผมสบายๆ ที่ 85mm ครับ(กล้อง APS-C) ระยะถ่ายคนครึ่งตัวกำลังดี โบเก้ดวงใหญ่ใช้ได้แล้ว
ระยะยาวกว่านี้ สำหรับผมเริ่มจะลำบาก แต่อันนี้ก็แล้วแต่คนด้วย

Q: ใช้ F ต่ำแล้วโฟกัสยาก แก้ไขยังไง
A: เป็นปกติครับ ยิ่งที่เลนส์ละลายหลังดี หมายถึงมีจุดชัดน้อย การโฟกัสให้เข้าก็จะยากตามไปด้วย หากใช้เลนส์มือหมุน ลองดูว่าตัวกล้องมีระบบช่วยโฟกัสหรือไม่(กล้อง Mirrorless จะสะดวกกว่าตรงนี้) แล้วเปิดใช้ระบบช่วยโฟกัส
หรืออีกวิธีคือ เพิ่มค่า F ให้สูงขึ้น ระยะชัดจะมากขึ้น ทำให้โฟกะสง่ายขึ้นตามไปด้วย แต่ก็จะละลายหลังน้อยลง
ตรงนี้ตรงกับคำว่า High-risk High-return ครับ ความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนยิ่งงาม

ก็ประมาณนี้ล่ะครับ กับการถ่ายภาพแนวละลายหลัง
หวังว่า จะเลือกเลนส์ที่เหมาะกับตัวเอง และสนุกกับการละลายฉากหลังนะครับ สวัสดี. . .

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น